วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์

การประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ 

          ในยุคสารสนเทศ (Information age) นี้  ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนสามารถเสาะแสวงหาหรือในทางกลับกัน  ก็สามารถเผยแพร่ให้บุคคล ทั่วไปได้รับทราบถึงข้อมูล  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง  การส่งและการรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นภาษาไทยนับว่ามีความสำคัญต่อทุกวงการ  ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือด้านธุรกิจทั้งนี้เพื่อจะได้ติดต่อสื่อสารกันด้วยความสะดวกโดยไม่จำกัดเพศ  หรือการศึกษา  โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางในการติดต่อ
          เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการประกอบอาชีพมากขึ้น  ความต้องการที่จะทำให้คอมพิวเตอร์แสดงผลภาษาไทยไปจนถึงสามารถเข้าใจภาษาไทย  และโต้ตอบด้วยภาษาไทยได้ก็เพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น  ในบทนี้จึงได้นำเสนอความรู้เรื่องการประมวลผล  และการประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์  นับตั้งแต่เรื่องการประมวลผลอักขระ (Character processing)การประมวลผลคำ (Word processing)  การประมวลผลข้อความ (Text processing)  ไปจนถึงการประมวลผลภาพ (Image  processing)  ของภาษาไทย  เพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นในการเรียนรู้เรื่องนี้
          เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการรับข้อมูล  แสดงผลข้อมูล  และพิมพ์ข้อมูลมากขึ้น  จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนในยุคสารสนเทศนี้  การประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์จึงได้รับการทำวิจัยและพัฒนาให้สามารถประมวลผลบนคอมพิวเตอร์ได้ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์(Computer  Engineering)  ผสมผสานกับเทคโนโลยีทางด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ(Natural  Language  Processing)  ทางด้านการประมวลผลภาพ (Image  Processing)  และความรู้ทางภาษาศาสตร์ (Linguistics)  ด้วยความหวังว่าจะสามารถทำวิจัยและพัฒนาโปรแกรม  เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาไทยด้วยฐานความรู้ภาษาไทยทั้งด้านอักขรวิธี  วจีวิภาค  วากยสัมพันธ์อรรถศาสตร์  รวมทั้งฉันทลักษณ์ได้
          ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  (๒๕๓๔)  ได้เขียนไว้ใน คอมพิวเตอร์กับภาษาไทย :  การพัฒนามาตรฐานเบื้องต้นสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยเรื่องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษาไทยทั้งทางด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์  และยังได้แสดงให้เห็นแผนผังภาพรวมของการศึกษาวิจัยทางภาษาไทย  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ๒  แกน  คือ  แกนนอนเป็นการแจกแจงความเป็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ส่วนแกนตั้ง  เป็นความนึกคิดส่วนผิวและส่วนลึก(ดูแผนผัง  ๑ ประกอบ)  ดังนั้น  การที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ภาษาไทยได้ทุกศาสตร์และสาขาวิชาตามนี้  ก็ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มขึ้นอีกมาก  เพื่อที่จะได้โยงศาสตร์ ๒ ศาสตร์นี้เข้าด้วยกัน
          เมื่อได้รวบรวมผลงานวิจัยและพัฒนาเท่าที่ผ่านมา  ก็พบว่า  มีอาจารย์  ผู้เชี่ยวชาญ  และนักวิจัยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน  ได้สนใจที่จะศึกษาค้นคว้าทำวิจัยและพัฒนาโปรแกรมการประมวลผลภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์อย่างกว้างขวาง  เพื่อให้ผู้ใช้คนไทยสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งหมายรวมตั้งแต่การประมวลผลอักขระ  คำข้อความ  ไปจนถึงการประมวผลภาพภาษาไทยในบทนี้จะอธิบายโปรแกรมการประมวลผลบางโปรแกรม  เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานให้สามารถเข้าใจเรื่องการประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ตัวอย่างโปรแกรมเหล่านี้  ได้แก่  โปรแกรมการเรียงลำดับคำไทย  โปรแกรมตัดคำภาษาไทยโปรแกรมการสืบค้นคำไทย  โปรแกรมการสืบค้นคำไทยตามเสียงอ่าน  โปรแกรมแปลภาษาและโปรแกรมรู้จำอักขระไทยด้วยแสง  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น